รายละเอียดโครงการอาคารคลับเฮาส์

ในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี สมาคมราชกรีฑาสโมสร เมื่อวันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563 มีการรายงานว่า อาคารคลับเฮาส์มีความเสื่อมโทรมตามอายุขัย จึงได้มีการเข้าศึกษาโครงสร้างของอาคารดังกล่าว ซึ่งตามที่บริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ดำเนินการประเมินโครงสร้างอาคารโดยการทดสอบการรับน้ำหนักของอาคารคลับเฮาส์หลังเก่า และพบว่าโครงสร้างในบริเวณที่ให้บริการสมาชิก สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้เพียง 91 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งมีระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่ยอมรับได้

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย คณะกรรมการอำนวยการทั่วไปจึงมีมติระงับการใช้อาคารคลับเฮาส์ เป็นการชั่วคราวและได้เสนอการแก้ไขปัญหา 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้

1. ซ่อมแซมเล็กน้อยอาคารคลับเฮาส์หลังเก่า

โดยการซ่อมแซมโครงสร้างในส่วนที่มีความเสียหายเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ 250 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานตามโครงสร้างอาคารหลังเก่า

2. ซ่อมแซมใหญ่อาคารคลับเฮาส์หลังเก่า

โดยการซ่อมแซมและเสริมกำลังโครงสร้างอาคารเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

3. ก่อสร้างอาคารคลับเฮาส์หลังใหม่ทดแทนอาคารหลังเก่า

ในการสร้างอาคารหลังใหม่ สมาคมฯ จะต้องศึกษาและจัดเตรียมแบบก่อสร้างและรายละเอียดของการก่อสร้าง เพื่อที่จะประเมินราคาค่าก่อสร้างสำหรับการพิจารณาต่อไป

จากนั้น คณะกรรมการอำนวยการทั่วไปได้ปรึกษาหารือแนวทางการดำเนินงานกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด กอปรกับสมาคมฯ ได้รับแจ้งจากกรมศิลปากรว่าอาคารคลับเฮาส์เป็นอาคารโบราณสถานที่ควรอนุรักษ์ไว้ สมาคมฯ จึงพิจารณาหาแนวทางที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูอาคารคลับเฮาส์ให้กลับมาใช้งานได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

ภาพความเสียหายอาคารคลับเฮาส์

การพิจารณาแนวทางของกรมศิลปากร

อาคารคลับเฮาส์ภายในสมาคมราชกรีฑาสโมสร เป็นอาคารที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เห็นสมควรอนุรักษ์รูปแบบดั้งเดิมของอาคารดังกล่าวไว้ในตำแหน่งที่ตั้งเดิม โดยมีแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

1. แนวทางการบูรณปฏิสังขรณ์ เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับการรองรับกิจกรรมสันทนาการทั่วไป อาทิ การจัดเลี้ยง การประชุม และการชมกีฬาที่มีผู้ใช้สอยในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนไม่มากนัก

2. แนวทางรื้อถอนก่อสร้างกลับขึ้นใหม่ เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับการรองรับกิจกรรมสันทนาการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องรองรับผู้ใช้สอยจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน

กรมศิลปากร ให้สมาคมฯ วิเคราะห์รูปแบบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมและการเปลี่ยนแปลงของอาคารคลับเฮาส์ เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินการอนุรักษ์ตามข้อพิจารณาทั้ง 2 แนวทาง สมาคมฯ จึงได้จัดทำรายงานดังกล่าวและนำส่งให้กรมศิลปากรพิจารณา และกรมศิลปากรเห็นชอบตามรายงานที่สมาคมฯ จัดทำ

ภาพการทดสอบอาคาร

ผลการสำรวจความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพของอาคาร

1. ความเสียหายจากรายงานการสำรวจของบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด

1.1 จากการสำรวจในแนวราบของอาคาร (Building Plane Survey) ระนาบเอียงของอาคารยังอยู่ในค่าที่ยอมรับได้ไม่เกิน 1 ต่อ 300

1.2 จากการทดสอบเพื่อประเมินค่ากำลังรับแรงอัดสูงสุด (fc’) ของคอนกรีต โดยวิธี Rebound Hammer (Schmidt) โดยคอนกรีตพื้นมีกำลังอัดสูงสุด 233 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

1.3 จากการทดสอบเพื่อประเมินความสมบูรณ์ของเนื้อคอนกรีต (Ultrasonic Pulse Velocity) โดยคอนกรีตเสารับแรงอัดสูงสุดได้ 138 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรและคานรับได้ 144 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

1.4 จากการทดสอบการรับน้ำหนักของพื้น (Floor Load Test)

1.4.1 ห้อง Dancing รับได้ 290 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (เทียบเท่า Load LL 150)

1.4.2 ระเบียงชั้น 2 รับได้ 310 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (เทียบเท่า Load LL 150)

2. ผลความเสียหายจากการตรวจวัดความผุกร่อนในเหล็กเสริมของโครงสร้างคอนกรีต (Corrosion Test) โดยวิธี Half-Cell Potential Test (10 ตำแหน่ง)

• ความน่าจะเป็นร้อยละ 90 ที่จะไม่เกิดการกัดกร่อนของสนิมในเหล็กเสริมคอนกรีต มี 5 ตำแหน่ง

• มีโอกาสเกิดหรือไม่เกิดการกัดกร่อนของสนิมในเหล็กเสริมคอนกรีต มี 4 ตำแหน่ง

• ความน่าจะเป็นร้อยละ 90 ที่จะเกิดการกัดกร่อนของสนิมในเหล็กเสริมคอนกรีตมี 1 ตำแหน่ง

3. ความเสียหายจากการสำรวจทางกายภาพด้วยสายตา (Visual Inspection) ผลการสำรวจพื้นชั้น 2 ด้านติดกับสระว่ายน้ำคาดว่ามีความเสียหายรุนแรง เนื่องจากไม่มีหลังคาปกคลุมทำให้เป็นพื้นที่รับน้ำฝนและมีน้ำหนักจากงานระบบกระทำอย่างสม่ำเสมอ ทำให้คอนกรีตเสื่อมสภาพ หลุดล่อนและเหล็กเสริมเกิดสนิม สำหรับพื้นชั้น 2 ด้านติดกับสนามม้าแข่ง คาดว่ามีความเสียหายปานกลางเนื่องจากมีน้ำฝนสาดเข้ามาภายในทำให้คอนกรีต เสื่อมสภาพ หลุดล่อนและเหล็กเสริมเกิดสนิม พื้นที่ใต้หลังคาอื่นๆ มีรอยน้ำรั่วซึมเป็นจำนวนมาก คาดว่าเกิดจากมีหลังคารั่วซึม

แนวทางในการนำอาคารคลับเฮาส์กลับมาใช้งาน

คณะกรรมการอำนวยการทั่วไปเสนอทางเลือก 3 แนวทางในการนำอาคารคลับเฮาส์กลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้สมาชิกลงคะแนนในที่ประชุมเพื่อเป็นหลักในการดำเนินงานต่อไป

หมายเหตุ: งบประมาณของทุกแนวทางข้างต้น ไม่รวมงบประมาณการทำห้องครัวและอุปกรณ์เป็นเงิน 50 ล้านบาท โดยจะเป็นครัวหลักของอาคารคลับเฮาส์ ซึ่งจะต้องขออนุมัติจากสมาชิกในการนี้ด้วย

แนวทางที่ 1 การซ่อมแซมอาคารคลับเฮาส์ (Renovate)

การซ่อมแซมงานสถาปัตยกรรมและเสริมกำลังโครงสร้าง พื้น คาน เสา และฐานราก เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ที่ 250 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับกิจกรรมการใช้งานเป็นอาคารที่ไม่เป็นที่ชุมนุมคนจำนวนมาก และจำกัดการใช้งานตามข้อกำหนดการออกแบบอาคาร สำนักงาน ธนาคาร (กฎกระทรวงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527)

งบประมาณ (บาท)
(โดยประมาณ)
ระยะเวลาดำเนินงานอายุการใช้งาน
286 ล้านบาท630 วัน
( 21 เดือน )
ไม่น้อยกว่า 40 ปี

แนวทางที่ 2 การซ่อมแซมและเสริมกำลังอาคารคลับเฮาส์ (Retrofit)

การซ่อมแซมงานสถาปัตยกรรมและเสริมกำลังโครงสร้าง พื้น คาน เสา และฐานราก เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจรได้ที่ 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับกิจกรรมการใช้งานอาคารเป็นสโมสร และสามารถชุมนุมคนได้ตามที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับการใช้งานจริงและตามมาตรฐานข้อกำหนดการออกแบบอาคารชุมนุมคน ตลาด อาคารสรรพสินค้า หอประชุม โรงมหรสพ ภัตตาคาร ห้องประชุม (กฎกระทรวงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527)

งบประมาณ (บาท)
(โดยประมาณ)
ระยะเวลาดำเนินงานอายุการใช้งาน
295 ล้านบาท630 วัน
(21 เดือน)
ไม่น้อยกว่า 40 ปี

แนวทางที่ 3 ก่อสร้างอาคารคลับเฮาส์หลังใหม่ทดแทนอาคารหลังเก่า (Rebuild)

การรื้อถอนและสร้างคืนกลับใหม่ โดยคงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิม และโครงสร้างอาคารสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกใช้งานได้ 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร สำหรับกิจกรรมการใช้งานอาคารเป็นสโมสร และสามารถชุมนุมคนได้ตามที่กฎหมายกำหนด

งบประมาณ (บาท)ระยะเวลาดำเนินงานอายุการใช้งาน
278 ล้านบาท600 วัน
(20 เดือน)
ไม่น้อยกว่า 80 ปี